Support
www.thaibizsolutions.com
095-979-9890
Your shopping cart
ดูตะกร้าสินค้าของคุณ
ไม่มีสินค้าในตะกร้าของคุณ

เทคนิคการทำคำนามนับได้ภาษาอังกฤษจากเอกพจน์ให้เป็นพหูพจน์

piboon11@yahoo.com | 12-04-2557 | เปิดดู 4696 | ความคิดเห็น 0

เทคนิคการทำคำนามนับได้ภาษาอังกฤษจากเอกพจน์ให้เป็นพหูพจน์

การทำคำนามนับได้ภาษาอังกฤษให้เป็นพหูพจน์ (Plural) โดยมาก เราจะทำกันโดยการเติม “s”

แต่มีคำนามนับได้ในภาษาอังกฤษหลายคำที่ทำตัวพิลึกและผิดปกติเล็กน้อย (Irregular plural nouns) คือมันอาจจะ

 

1.) ไม่ได้เติม “s” ตามปกติ แต่กลับไปเติม “es” แทน ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากว่า ถ้าเราเติม “s” เฉยๆ เข้าไปท้ายคำต่างๆ ที่มีเสียงลงท้ายเป็น “ส”, “ซ” หรือ “ช” ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษคือ ตัว ss, x, ch, sh (รวมถึงบางคำที่ลงท้ายด้วยตัว “o” ด้วย) มันจะอ่านออกเสียงไม่ได้ (ถ้าเติม s เฉยๆ) ดังนั้น เราจึงเห็นคำเหล่านี้

glass --> glasses (แก้วน้ำ)

box --> boxes (กล่อง, หีบ)

switch --> switches (สวิทช์ไฟ)

wish --> wishes (ความปรารถนาที่เราส่งคำอวยพรในวาระสำคัญ)

hero --> heroes (วีรบุรุษ)

 

2.) บางคำก็เติมได้ทั้ง s และ es … เช่น mango --> mangoes หรือ mangos (มะม่วง) ก็ได้, photo --> photos (รูปถ่าย)

มีอยู่คำหนึ่งซึ่งพิลึกหน่อยคือ “ox” เวลาเป็นพหูพจน์ เขาใช้เป็น “oxen” (วัวหลายตัว)

 

3.) ถ้าคำนามนั้น ลงท้ายด้วย y ให้เปลี่ยน y เป็น i ก่อน ... แล้วเติม es

spy --> spies (นักสืบ)

cherry --> cherries (ผลไม้ที่เราเรียกว่า เชอรี่)

แต่ถ้าในคำนั้นมีสระ (a, e, i, o, u) อยู่หน้า y … ก็ให้เราเติม s ไปได้เลย เช่น

key --> keys (กุญแจ)

 

4.) ถ้าคำนามนั้น ลงท้ายด้วย f หรือ fe ... ให้เปลี่ยน f หรือ fe เป็น v ก่อน ... แล้วเติม es

knife --> knives

แต่ถ้ามีสระอยู่หน้าตัว f หรือว่า เป็นคำลงท้ายด้วย ff ... เราก็เติม s ไปได้เลย เช่น

cliff --> cliffs (หน้าผา)

roof --> roofs (หลังคา)

clef --> clefs (กุญแจ ... หมายถึงเครื่องหมายกุญแจที่อยู่บนบรรทัด 5 เส้น ที่ใช้เขียนเวลาแต่งเพลง)

บางคำก็ได้ทั้งสองแบบเช่น dwarf --> dwarfs หรือ dwarves (คนแคระ) ก็ได้

 

5.) คำบางคำ เวลาเป็นพหูพจน์ มันเปลี่ยนรูปไปเลย เช่น

man --> men (คน, ผู้ชาย)

woman (ออกเสียง "วู้-มึ่น") --> women (ออกเสียง "วี้-หมิ่น") (ผู้หญิง)

child --> children (เด็ก, ลูก)

mouse --> mice (หนู)

goose --> geese (ห่าน)

tooth --> teeth (ฟัน)

crisis --> crises (วิกฤต หรือ วิกฤตการณ์ ซึ่งหมายถึง “ช่วงเวลาที่กำลังลำบาก”)

index --> indices หรือ indexes (ดัชนีชี้วัด, นิ้วชี้) ก็ได้

appendix --> appendices หรือ appendixes (ไส้ติ่ง, ส่วนที่อยู่ตอนท้ายของรายงาน เป็นส่วนใส่เพิ่ม เช่น ตาราง หรือแผนภาพที่เพิ่มเติมเข้ามา เพื่อให้เข้าใจได้มากขึ้น)

 

6.)บางคำพิลึกกว่านั้น คือ ไม่ได้เติม s ... แต่กลับเติม e บ้าง, เติม a บ้าง, หรือบางทีก็เติม i บ้าง เช่น

formula --> บางทีก็เป็น formulas, แต่บางทีก็เป็น formulae (สูตรที่เป็นส่วนผสมเฉพาะของสารบางอย่าง) เวลาเลือกว่าจะใช้พหูพจน์แบบคำไหนดี ฝรั่งเขาก็จะดูรูปประโยคและดูสถานการณ์ (context) ด้วย ไม่ใช่ว่าใช้คำไหนก็ได้ เพราะมันจะสะท้อนว่าผู้พูดใช้คำฟังดูตลกได้

spectrum --> spectra (แทบรังสีของแสงที่เราเห็นเป็นหลายสี เช่น สายรุ้งที่เราเห็นหลังฝนตก ก็คือ spectrum อย่างหนึ่ง)

alumnus --> alumni (ศิษย์เก่า) ที่มันแปลกๆ แบบนี้ ก็เพราะมันมาจากภาษาลาติน

focus --> foci (จุดโฟกัส)

medium --> media (สื่อ, ตัวกลาง, คนทรงเจ้า)

 

7.) บางคำ เวลาเป็นพหูพจน์ กลับใช้รูปเดิมกับเวลาที่เป็นเอกพจน์ เช่น

fish --> fish (ปลา)

deer --> deer

sheep --> sheep

I have a fish in my aquarium. (ฉันมีปลาตัวหนึ่งอยู่ในตู้)

I have many fish in my aquarium. (ฉันมีปลาหลายตัวอยู่ในตู้)

แต่ถ้าจะหมายถึง “ชนิดของปลา” เราเติม s ได้ ในกรณีที่มี “ปลาหลายชนิด หรือหลายพันธุ์” เช่น

There are thousands of fishes in the world. (มีปลาเป็นพันๆ ชนิด ในโลกของเรา)

 

เขียนโดย ... อ.พิบูลย์ แจ้งสว่าง

ความคิดเห็น

วันที่: Thu Jul 04 23:18:19 ICT 2024

แสดงความคิดเห็น
All Comments: 0 Pages: 1/0